วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

วัดพะโคะ


วัดพะโคะ (เดิมชื่อ วัดหลวง) ปัจจุบันชื่อ วัดราชประดิษฐาน ตั้งอยู่ บริเวณเขาพัทธสิงค์ หมู่ที่ 6 ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ปี พ.ศ. 1919-2039 สมัยอยุธยาตอนต้น ชาวเผ่าอินโดนีเซีย จากปลายคาบสมุทรมลายูบริเวณหมู่เกาะ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่เจริญซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม มีการ ติดต่อกับชาวอาหรับเปอร์เซีย ตั้งแต่ตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ได้ส่งกองโจรสลัดมาทางมหาสมุทรเพื่อปล้นสะดมชุมชนต่าง ๆ ทางตอนกลางคาบสมุทรมลายูมีหลักฐานบันทึกในหนังสือเรื่องกัลปนาวัดในสมัยอยุธยากล่าวถึง โจรสลัดยกทัพยก กำลังเข้าปล้นตีเมืองพะโคะ แถบคาบสมุทรสทิงพระหลายครั้ง
พ.ศ. 2057 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้สร้างวัดพะโคะ (เดิมชื่อ วัดหลวง) ต่อมา ได้สร้างวัดพะโคะ บนเขาพะโคะ ปัจจุบันชื่อ เขาพัทธสิงค์
พ.ศ. 2091 - 2111 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้รับพระราชทานที่กัลปนาวัด เรียกว่า วัดราชประดิษฐาน
พ.ศ. 2148 - 2158 สมเด็จพระเอกาทศรถ ได้บูรณะพระมาลิกเจดีย์สูง 1 เส้น 5 วา และได้พระราชทานยอดพระเจดีย์เนื้อเบญจโลหะ ยาว 3 วา 3 คืบ

เดิมวัดนี้ปรากฏว่าพระชินเสนเป็นผู้สร้างราวปีพ.ศ.500 (สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันอายุราว 2050 ปี ) ตั้งอยู่เนิน เขาพะโคะ หรือที่เรียกกันว่า เขาพิเพชรสิงห์บ้าง เขาพิพัทธสิงห์บ้าง เขาบรรพตพะโคะบ้าง เขาพระพุทธบาทบ้าง (เพราะมีรอยพระพุทธบาทเหยียบไว้ที่แท่นหินใหญ่ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน) ชื่อเดิมว่าวัดพระราชประดิษฐาน ได้ฝังวิสุงคามสีมา พ.ศ. 840 พระยาธรรมรังคัลเจ้าเมืองพัทลุง (สทิงพระรานสี) เป็นศาสนูปถัมภ์สร้างถาวรวัตถุหลายอย่าง เพราะเห็นความสำคัญของวัดพระพุทธบาท หรือวัดพระราชประดิษฐาน ครั้นต่อมา ระหว่าง พ.ศ. 2091 ถึง พ.ศ.2111 พระยาดำธำรงกษัตริย์ (บางแห่งกล่าวว่าพระยาธรรมรังคัล) ได้นิมนต์ พระมหาอโนมทัสสี พระณไสยมุยและ พระธรรมกาวา ให้ไปเอากระบวนพระมหาธาตุเมืองลังกา และมาสร้างเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ สูงหนึ่งเส้นห้าวา ทำพระวิหารธรรมศาลา ทำอุโบสถ สร้างกำแพงสูงหกศอก ระหว่างเขตสังฆาวาสที่พักสงฆ์อาศัยคือส่วนลาดต่ำทางทิศตะวันตกของพื้นที่วัดส่วนที่เป็นเนินสูงราบเป็นชั้นๆ พื้นที่วัดทางทิศตะวันออกพุทธาวาสสถานที่ปลูกสร้างปูชนียวัตถุโบราณสถาน เช่น พระวิหารพระพุทธไสยาสน์(พระพุทธโคตมะ) พระเจดีย์(สุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ) อุโบสถ ธรรมศาลา เป็นต้น การสร้างพระพุทธไสยาสน์ ชื่อว่าพระพุทธโคตมะ ตามความนิยมของชาวบ้านเรียกชื่อวัดตามชื่อพระว่าวัดพระโคตมะ ชื่อวัดพระราชประดิษฐานเดิมไม่นิยมใช้เรียกกัน ครั้นต่อมาวัดพระโคตมะ เรียกเพี้ยนเป็นวัดพะโคะ ในกาลครั้งนั้นกษัตริย์หัวเมืองพัทลุง (สทิงพระ) และคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทำ ฏีกาเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาขอที่กัลปนาต่อพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกัลปนาแก่วัดวาอารามต่างๆ ในเขตหัวเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุง ที่เป็นกัลปนา (เป็นเลนทุบาทโลกเลขา) อาณาเขตของวัด ทิศเหนือ จด หัวตะลุมพุก (แหลมตะลุมพุก),ทิศใต้ จดหัวเขาแดง , ทิศตะวันออก จด อ่าวไทย , ทิศตะวันตก จด ทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่ พ. ศ. 2151 ถึง พ. ศ. 2155 ในสมัยพระราชมุนีรามคุณูปรมาจารย์ (สมเด็จเจ้าพะโคะ ) ได้ปกครองวัดพะโคะเจริญรุ่ง เรืองมาก เนื่องจากได้รับการพระราชอุปถัมภ์จาก พระเจ้าอยู่หัวสละพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์ให้ทางวัดได้ทำการสร้างถาวรวัตถุขึ้นหลายอย่าง เช่น พระวิหาร พระเจดีย์ อุโบสถ ธรรมศาลา โดยเฉพาะบูรณะพระเจดีย์ศรีรัตนธาตุสูง 1 เส้น 5 วา ยอดพระเจดีย์หล่อด้วยเบ็ญจะโลหะยาว 3 วา 3 ศอก และปรากฏว่า สมเด็จเจ้าพะโคะได้นำดวงแก้วที่พญางูให้เมื่อครั้งเป็นทารก บรรจุไว้ที่ยอดเจดีย์ จึงได้ชื่อว่า สุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ครั้นต่อมาหลังจากสมเด็จเจ้าพะโคะ จากวัดพะโคะไปแล้ว ฟ้าผ่ายอดเจดีย์ดวงแก้วตกลงมาอยู่ใกล้ๆเจดีย์ ภายหลังเด็กๆเล่นสะบ้า (ลูกเกย) กระเด็นเข้าไปในป่าที่ดวงแก้วตกอยู่ เด็กเห็นเป็นลูกแก้วประหลาด จึงนำไปบ้านเพื่อมอบให้แก่พ่อแม่ เมื่อถึงประตูชัยไม่สามารถจะออกจากวัดไปได้ เพราะเกิดมีงูใหญ่ขัดขวางไว้ และประตูวัดมืดมิดไปหมด เด็กก็นำลูกแก้วเข้าไปคืนให้แก่เจ้าอาวาส ปรากฏว่าดวงแก้วนั้นเป็นปูชนียวัตถุศักดิ์สิทธิ์ของวัดพะโคะชิ้นหนึ่ง ต่อมาดวงแก้วถูกคนขโมยไป 3 ครั้งแต่ก็เกิดความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ผู้นำไปทุกครั้ง และได้นำกลับมาคืนไว้ ณ วัดพะโคะทุกครั้ง และครั้งล่าสุด ราว พ. ศ. 2471 มีนายจีนฯ บ้านท่าคุระเป็นคนเสียสติลักพาดวงแก้วไป ที่ บ้านท่าคุระ ขณะที่นายจีนนำดวงแก้วไปนั้นตาก็มองเห็นว่ามีงูใหญ่ไล่ตามมา นายจีนต้องการให้ดวงแก้วพาเหาะ แต่ก็ไม่สามารถแหะได้ นายจีนจึงโกรธมากเลยเอาดวงแก้ววางลง แล้วเอาหินขนาดใหญ่ทุ่มทับลงบนดวงแก้ว ทำให้ดวงแก้วแตกร้าว มีชาวบ้านไปพบจึงเอาดวงแก้วมามอบให้แก่เจ้าอาวาสวัดพะโคะดังเดิม ส่วนนายจีน ซึ่งอวดดีว่าตนสามารถทุบดวงแก้วแตก ได้ไปจับช้างเถื่อนที่คลองนายเรียมและถูกช้างจับแทงฟัดจนลำตัวแขนขาขาดออกเป็นท่อนๆ ถึงแก่ความตาย ซึ่งชาวบ้านจึงเชื่อว่าเป็นผลกรรมจากการกระทำ ของนายจีนที่ทำให้ดวงแก้วเสียหายนั้นเอง ดวงแก้วที่แตกถูกประสานรอยร้าวไว้ด้วยลวดทองแดง ในปี พ. ศ. 2484 พระอาจารย์แก้วพุทธมุนี วัดดีหลวงและพระชัยวิชโย วัดพะโคะ จะนำดวงแก้วไปให้ช่างหล่อทำใหม่ แต่สมเด็จเจ้าพะโคะเข้าประทับทรง บอกห้ามไม่ให้หล่อทำใหม่ สำหรับดวงแก้วดังกล่าวนี้ ต่อมาประชาชนได้ทำบุญสมโภชดวงแก้วทุกๆวันพฤหัสบดีเสมอมา หลังจากสมเด็จเจ้าพะโคะ จากวัดพะโคะไปแล้ว ก็ได้มีพระเถระปกครองวัดสืบต่อกันมาหลายรูปหลายยุค โดยเฉพาะในยุคพระอาจารย์เขียว ปุญญผโล (พระครูสุนทรสิทธิการย์) เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการพัฒนาปรับปรุงบูรณะปฏิสังขรณ์ ศาสนสถาน จนวัดพะโคะเจริญขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลา 2050 ปี ที่ผ่านมาวัดพะโคะคือศูนย์รวมจิตใจประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ รวมถึงชาวต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะด้วยบุญฤทธิ์และพระบารมีของสมเด็จเจ้าพะโคะ หรือหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด วัดพะโคะปัจจุบันมีพระครูสมุห์วิชาญชัย กตปุญโญ เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นพระนักพัฒนาอีกรูปหนึ่งที่จะสืบสานเจตนารมณ์ตามที่สมเด็จเจ้าพะโคะ และเจ้าอาวาสที่ผ่านๆมาตั้งปณิธานไว้ อนึ่งจากการที่วัดพะโคะและคณะกรรมการจัดสร้างวัตถุมงคล หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดและท้าวจตุคามรามเทพ รุ่น มหาบารมี ทวีทรัพย์ ( รุ่นแรกและรุ่นเดียวของวัด ) ขึ้นเพื่อจะนำรายได้จากการจัดสร้าง มาบูรณะวิหารหลวงปู่ทวด และนำรายได้สบทบทุนสร้างอาคารเรียน (หลังใหม่) โรงเรียนสมเด็จเจ้าพะโคะ ทั้งนี้เพื่อเป็นการทนุบำรุงพระศาสนาและการศึกษาของชาติให้ก้าวหน้าสืบ


ความสำคัญ


-ใช้เป็นสถานที่กระทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
-ประดิษฐาน
พระมาลิกเจดีย์พระพุทธไสยาสน์หรือพระโคตมะ
-พระมาลิกเจดีย์ เป็น
สถาปัตยกรรมภาคใต้แบบลังกาสมัยอยุธยา
-บรรจุ
พระบรมธาตุ
-พระพุทธบาทข้างซ้ายเหยียบประทับเป็นรอยอยู่บนหินความยาว 17 นิ้ว


โบราณสถาน

พระมาลิกเจดีย์
วิหารพระพุทธไสยาสน์
รอยพระพุทธบาท
ศาลาตัดสินความ
พระพุทธรูปทรงเครื่อง
หลักล่ามช้าง
ศิวลึงค์

ประวัติหลวงปู่ทวด

ตามตำนานกล่าวว่าหลวงปู่ทวด เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ซึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ย(ทาสทำงานใช้หนี้)ของเศรษฐีปานเกิดในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ. 2125 ณ บ้านสวนจันทร์(บ้านเลียบ) ต.ดีหลวง(ปัจจุบันเป็นตำบลชุมพล) อ.สทิงพระ(จะทิ้งพระ) จ.สงขลา แรกเกิดมีชื่อว่าปู ขณะท่านเกิดมีเหตุอัศจรรย์คือเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น เสมือนหนึ่งว่ามีผู้มีบุญญาธิการมาเกิด เมื่อตัดรกจากสายสะดือแล้วนายหูบิดาของท่านก็นำรกของท่านไปฝังไว้ที่โคนต้นเลียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ต้นเลียบในปัจจุบัน เมื่อท่านเกิดมาแล้วก็มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นกับท่านเรื่อยมา เป็นต้นว่า ขณะที่ท่านอยู่ในวัยแบเบาะในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวบิดามารดาของท่านต้องออกไปเกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนาซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน ซึ่งท้องนาแห่งนั้นห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ที่นาแห่งนั้นมีดงตาลและมะเม่าเป็นจำนวนมากครั้งนั้นจึงเรียกว่าทุ่งเม่า ปัจจุบันตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อนาเปล ในสมัยนั้นจึงมีสัตว์ป่าชุกชุมพอสมควร บิดามารดาของท่านจึงผูกเปลของท่านซึ่งเป็นเปลผ้าไว้กับต้นมะเม่าสองต้นและก็ได้เกี่ยวข้าวอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น พอได้ระยะเวลาที่นางจันทร์ต้องให้นมลูก นางจันทร์จึงเดินมาที่ที่ปลูกเปลของลูกน้อย และก็เห็นงูจงอางตัวใหญ่หรืองูบองหลาที่ชาวภาคใต้เรียกกันพันที่รอบเปล นางจันทร์เห็นแล้วตกใจเป็นอันมากจึงเรียกนายหูซึ่งอยู่ไม่ไกลนักมาดูและช่วยไล่งูจงอางนั้น แต่งูจงอางนั้นก็ไม่ไปไหน นายหูและนางจันทร์จึงตั้งสัตยาธิฐานว่าขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกน้อยเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่านายหูและนางจันทร์จึงเข้าไปดูลูกน้อยเห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใด ๆ และปรากฎว่ามีเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอกเด็กชายปูนั้น เมือกแก้วนั้นมีแสงแวววาวและต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องเข้าก็บีบบังคับขอลูกแก้วเอาจากนายหูและนางจันทร์ บิดามารดาของท่านจึงจำต้องยอมให้ลูกแก้วนั้นแก่เศรษฐีปานซึ่งเป็นนายเงิน แต่ลูกแก้วนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิประจำตัวท่าน เมื่อเศรษฐีปานเอาลูกแก้วไปแล้วก็เกิดเภทภัยในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วยกันบ่อย และมีฐานะยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาเด็กชายปู และยกหนี้สินให้แก่นายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาสและต่อมาก็มีฐานะดีขึ้น ๆ ส่วนเศรษฐีปานก็มีฐานะดีขึ้นดังเดิม เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 7ขวบ พ.ศ.2132 บิดามารดาของท่านจึงนำท่านไปฝากไว้เป็นศิษย์วัดเพื่อเล่าเรียนหนังสือ ที่วัดกุฎ๊หลวงหรือวัดดีหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านท่าน ขณะนั้นมีท่านสมภารจวง ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว สมภารจวงได้บวชให้ท่านเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี ตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนี้เองบิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่ท่านเป็นลูกแก้วประจำตัวท่านต่อไป ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดเวลาของท่าน ต่อมาท่านสมภารจวงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นสมัยนั้นเรียกว่ามูลบทบรรพกิจ ปัจบันก็คือเรียนนักธรรมนั่นเอง โดยนำไปฝากเรียนไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ให้มาครองเป็นเจ้าอาวาสวัดสีคูยังหรือวัดสีหยังในปัจจุบัน ห่างจากวัดดีหลวงไปทางเหนือประมาร 4 กิโลเมตร ท่านได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจบหลักสูตรที่วัดสีคูยังนั้น หลังจากนั้นท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้น ดดยมาพำนักอยู่ที่วัดเสมาเมือง ซึ่งเป็นสำนักเรียนและมีสมเด็จพระมหาปิยะทัสสี เป็นเจ้าอาวาส และบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุครบกาลอุปสมบท ท่านได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ จนมีความรู้และเป็นผู้ทรงอภิญญามาก และได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากสมเด็จพระเอกาทศรศในครั้งสุดท้ายในราชทินนามที่ สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ สุดท้ายเมื่อท่านมีอายุได้ 80 ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดพะโคะ วัดบ้านเกิดของท่าน จวบจนมรณภาพ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2225 สิริรวมอายุได้ 99 ปี

น.ส.อรวรรณ ดำเอียด เลขที่ 30

น.ส.ธนิกา เพชรวงค์ เลขที่ 41

น.ส.นวรัตน์ โพธิ์กลาง เลขที่ 42

น.ส.นิภารัตน์ เกิดศรี เลขที่ 43

น.ส.ปณิดา จูดจันทร์ เลขที่ 44


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น